ภาพข่าว / กิจกรรม



ประวัติความเป็นมาของตำบลเมืองพาน

ความเป็นมาขององค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพาน เดิมเป็นสภาตำบลเมืองพาน ประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่ง ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของ ทุกหมู่บ้านในตำบล และแพทย์ประจำตำบล และสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรในแต่ละหมู่บ้าน เป็นสมาชิกสภาตำบลหมู่บ้านละหนึ่งคนต่อมาได้ ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพาน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2539 ตามพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มาจากการเลือกตั้ง หมู่บ้านละ 2 คน จำนวน 22 หมู่บ้าน รวมเป็น 44 คน

ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพา ปัจจุบัน ตั้งอยู่เลขที่ 259 หมู่ที่ 3 บ้านร้องหลอด ตำบลเมืองพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยก่อสร้างอาคารที่ทำการแบบสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์สองชั้น ขนาดกว้าง 8.00 เมตร ยาว 36.00 เมตรพื้นที่ใช้สอย600ตารางเมตรงบประมาณขององค์การตำบลเมืองพาน จำนวน 4,050,000.- บาท ( - สี่ล้านห้าหมื่นบาทถ้วน - )

องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพานได้ยกฐานะจาก "องค์การบริหารส่วนตำบลขนาดเล็ก" เป็น "องค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง" เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ตามมติ ก.อบต.จังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 4/2550 เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2550 ซึ่ง อบต.เมืองพานมีรายได้(ไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณ 2549) จำนวน 18,881,735.81 บาท และผ่านการประเมินตามเกณฑ์ตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้ 801 คะแนน (คะแนนเต็ม 1,000 คะแนน) จึงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถปรับขนาดเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลางได้

ต่อมา องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพานได้ยกฐานะจาก "องค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง" เป็น "องค์การบริหารส่วนตำบลขนาดใหญ่" เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ตามมติ ก.อบต.จังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 5/2555 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ตามหนังสือ ก.อบต. จังหวัดเชียงราย ที่ ชร 0037.2 / 14010 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ในขณะนั้น มี นายกาย จิรรัตน์สถิต ดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพาน ในปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพาน มี 23 หมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ มีสมาชิกสภา จำนวน 46 ท่าน

เจ้าผู้ครองนครลำพูน ไม่ปรากฏนาม และปีใดได้แต่งตั้งให ้“นายจันดาโจน” เป็นหัวหน้าคณะและพร้อมด้วยปู่แก้ว ปู่หนวด ปู่ปุ๊ด ได้นำพาคณะมา และใช้พาหนะโดยช้างมาล่าสัตว์ คล้องช้างป่าเพื่อนำไปถวายแด่เจ้าหลวง นครลำพูน ณ ป่าเมืองพาน ครั้งนั้นได้ช้างหลายเชือกเนื้อหลายตัวจึงนำไปถวายเจ้าเมืองลำพูน นายจันดาโจน จึงได้เล่าเรื่องถึงสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองพาน ให้เจ้าเมืองลำพูนได้รับทราบว่าเป็นสถานที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้อันมีค่ามหาศาล ที่ราบเชิงเขากว้างใหญ่ น้ำอุดมสมบูรณ์ ถ้าได้สร้างบ้านแป๋งเมืองอยู่จะได้รับประโยชน์ไม่น้อย เจ้าเมืองลำพูนจึงได้สั่งให้ นายจันดาโจนพร้อมด้วย ไพร่ ราษฎร ไปตั้งบ้านแป๋งเมืองอยู่ สร้างเมือง พ.ศ. 2321 สถาปนา นายจันดาโจนเป็นพญาหาญครองเมือง แต่มาขัดด้วยว่าจะตั้งนามเมืองว่าอย่างไร

ตั้งชื่อเมือง ผู้เฒ่า ผู้แก่ ที่ติดตามมาได้ปรึกษาหารือกันว่า จะตั้งชื่อเมืองว่าอย่างไรดีเดิมสถานที่นี้ เป็นที่ล่าสัตว์ของพราน ควรจะเอานามที่เป็นสัญลักษณ์ จึงลงมติกัน ให้นามว่า “พราน” ต่อมาคำว่า “พราน” คนสมัยก่อนคงคงจะพูดกันสั้น ๆ จึงเหลือแต่ “ พาน” ตั้งแต่นั้นมา เจ้าเมืองชื่อพญาหาญ ได้ปกครองเมืองมาตลอด มีชายา 6 คน ดังนี้ มีนามตามลำดับ ดังนี้ นางมี นางขา นางเอ้ย นางตุมมา นางอูป นางแสงอิ่น ชายาทั้ง 6 คนนี้ ได้มาจากเวียงยอง ลำพูน พร้อมไพร่ราษฎร ตั้งเมืองครั้งแรกตั้งอยู่ที่ท่าช้าง (คือที่ฝั่งแม่น้ำส้าน ) เมื่อ พ.ศ. 2321 ได้สร้างบ้านแป๋งเมืองเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว จึงมาคำนึงว่า เราเป็นพุทธศาสนิกชน ไม่มีวัดที่จะทำบุญ ประกอบพิธีทางศาสนาจึงได้นำไพร่ ราษฎร สร้างวัดขึ้น

ต่อมา พ.ศ. 2346 ทางเมืองเชียงตุง พม่า ส่งทหารมารบพวกไทยใหญ่ ซึ่งเป็นดินแดนจะอยู่ในบังคับของประเทศไทย เจ้าหลวงเหมพินทุ เจ้าผู้ครองนครลำพูน จึงบัญชาให้เจ้าพญาหาญยกทัพเมือง ไปสู้รบขับไล่พม่า แต่การสู้รบยังไม่ถึงขั้นแตกหัก จึงยกทัพกลับ (การรบตามสมุดหมายเหตุ ไม่ได้แจ้งไว้โดยละเอียด)บรรลุถึง พ.ศ. 2347เจ้าพญาหาญได้ถึงแก่อสัญกรรมลง

รุ่งขึ้นปี พ.ศ. 2348 ปีวอก เจ้าหลวง เจ้าผู้ครองเมืองลำพูน ได้แต่งตั้งบุตรพญาหาญ ซึ่งเกิดกับนางมีเป็นเจ้าเมืองพาน สืบแทน นามว่า พญาไชยฯได้ปกครองไพร่ราษฎรอยู่ด้วยความเป็นสุขทำความเจริญให้แก่บ้านเมืองตลอดมา พญาไชย มีชายาคนที่ชื่อ นางเอ้ย มีบุตรีชื่อ นางตุมมาฯ ธิดาของพญาไชย ไปได้สามีคือ หนานอุปละ เกิดบุตรด้วยกันคนหนึ่ง เป็นชาย คือ นายอิ่นคำ (พญาไชยชนะสงคราม – ต้นตระกูลเชื้อเมืองพาน) พอย่างอายุเข้า 21 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระใบวรพุทธศาสนา นามฉายาว่า พระอินทะจักร เมื่อลาสิกขาบทแล้วได้แต่งงานกับเจ้าแม่คำแปง เมื่ออายุได้ 28 ปี พ.ศ. 2427 เจ้าหลวงดาราฤทธิเดชฯ เจ้าผู้ครองนครลำพูน แต่งตั้งหนานอินทะจักร เป็นผู้ใหญ่บ้าน ให้นามใหม่ว่าพญาอินทะยศ ต่อมา พ.ศ. 2438 เจ้าหลวงเหมพินทุ เจ้านครลำพูน แต่งตั้งให้เป็นพ่อเมืองพาน และเลื่อนตำแหน่งให้เป็นพญาไชยชนะสงครามฯ มีภรรยา

  1. เจ้าแม่คำแปง มีบุตรธิดา 2 คน คือ นางหมู , นางจันทร , เจ้าน้อยกุนะ และนางคำปาน
  2. เจ้าแม่คำเอ้ย มีบุตรธิดา 2 คน คือ นางแก้ว และเจ้าน้อยคำตั๋น
  3. เจ้าแม่แสงไม่มีบุตรธิดา
  4. เจ้าแม่คำแดง มีบุตรชาย 3 คน คือ เจ้าน้อยสุข เจ้าน้อยสุภา และเจ้าน้อยบุญมา

ประวัติเมืองพาน ตามที่ได้เล่ามานี้ ได้อาศัยดูจากเอกสาร (สมุดข่อย) ผู้ที่สืบสกุลเก็บไว้และจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าที่ยังมีชีวิตอยู่ ประกอบเข้าด้วยกัน และได้นำพระราชบัญญัติเก่า ในสมัยที่พญาไชยชนะสงครามปกครองเมืองพานอยู่ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนยศเป็นหลวงพงษ์พูลสวัสดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2464 ในตำแหน่งกรรมการพิเศษเมืองเชียงราย ถือศักดินา 600 ไร่ มาลงไว้ ณ ที่นี้ ด้วย



องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพาน

259 ม.3 ต.เมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย 57120
โทร. 053-721486 Fax 053-723094
Email: [email protected] หรือ [email protected]
Facebook : องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพาน